NEWS & Events

ป่วยอยู่กับบ้านก็หาข้อมูลรักษาตัวเองได้

28 ก.ค. 2559

ในปัจจุบันมีหลายต่อหลายคนที่หันมาใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยของตนเอง ซึ่งอาจทำให้ได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากงานเขียนของแพทย์ท่านอื่น หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาการป่วยลักษณะต่างๆ กันมากยิ่งขึ้น

Alyson Krueger จาก Business Insider ได้กล่าวไว้ว่า “อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้ป่วยมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นว่าตนจะรักษาตัวเองอย่างไรต่อไป” ในขณะที่สถิติของ Pew Research Center ระบุว่าในปี 2013 มีประชากรผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1 ใน 3 ที่เลือกจะหาข้อมูลด้านสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์

จากสัดส่วนของสถิติในข้างต้นแสดงให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพจากหลายแหล่งได้ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากบางครั้งข้อมูลซึ่งมีที่มาจากแหล่งเดียวก็อาจไม่เพียงพอ หรือไม่มีความครอบคลุมที่ชัดเจนทั้งหมด ดังนั้นการมีฐานข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลทางการแพทย์ที่หลากหลาย ก็จะช่วยให้เราสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับอาการของโรคได้ และทำให้รู้ถึงปัญหาสุขภาพได้ตั้งแต่ก่อนหรือหลังจากไปพบแพทย์ และแม้ว่าจะไม่ได้ก้าวเท้าออกจากบ้านเลยก็ตาม

แนวโน้มดังกล่าวทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตอย่าง Google ได้พัฒนาเครื่องมือ Search Engine เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเว็บไซต์ Phys.org รายงานว่า Google ได้ร่วมมือกับทีมแพทย์เพื่อรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์แบบออนไลน์สำหรับอาการป่วยทั่วไป ขณะที่ Prem Ramaswami ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ตัวนี้กล่าวยืนยันถึงกระแสของแนวโน้มนี้ว่า “จำนวน 1 ใน 20 ของการค้นหาบน Google นั้น เป็นการค้นหาในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ” และแม้ว่าในปัจจุบัน Google จะเปิดให้ใช้งานแค่เวอร์ชันภาษาอังกฤษ โดยสามารถใช้งานได้บนแอป Goggle Search ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่บริษัทกำลังมีแผนการที่จะพัฒนาโครงการนี้ให้ครอบคลุมทั่วโลก

อีกเว็บหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ WebMD ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านสุขภาพ เครื่องมือการแพทย์และข้อมูลสนับสนุนผู้ป่วยแบบออนไลน์ นอกจากนี้ในเว็บยังมีเครื่องมือชื่อว่า Symptom Checker หรือเครื่องตรวจอาการป่วย ซึ่งสามารถช่วยคัดกรองอาการต่างๆ และบอกได้ว่าคุณป่วยเป็นอะไร วิธีใช้งานก็เพียงแค่กรอกข้อมูลเบื้องต้นของตัวคุณเองลงไป จากนั้นก็เลือกบริเวณที่มีอาการ และเลือกอาการป่วยจากลิสต์รายการ

แหล่งอ้างอิง : http://www.cnet.com